เรียกว่าเป็นประเด็นทางการเมืองที่สังคมต่างจับตามองปมตรวจสอบการเข้ารักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามว่า การสอบสวน-ไต่สวนขององค์กรอิสระ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ แพทยสภา องค์กรวิชาชีพของแพทย์ทั่วประเทศจะออกมาอย่างไร
ล่าสุด ในวันนี้ (30 เม.ย.68) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่ง
ตามคำร้องที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ไต่สวน กรณีกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ โดยนายชาญชัย เห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 มาตรา 89/2 (1) (2) และมาตรา 246 และไม่อาจอ้างกฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 25 ก.ย.2563
ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จึงขอให้ออกหมายจับและออกหมายขัง นายทักษิณ กลับมารับโทษที่เหลืออยู่ เนื่องจากเห็นว่านับตั้งแต่นายทักษิณ
เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำเลย ศาลพิเคราะห์คำร้องและเอกสารท้ายคำร้องแล้ว
เห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่คู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ของศาลนี้
อีกทั้งไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยในคดีดังกล่าว เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในชั้นบังคับตามคำพิพากษา
จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลนี้ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้
ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร จึงเห็นควรส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551
คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ของศาลนี้ แล้วให้โจทก์ และจำเลย แจ้งต่อศาลว่ามีข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง
ในคำร้องหรือไม่ อย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาลว่า การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุก
เมื่อคดีถึงที่สุดของศาลหรือไม่ อย่างไร ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6
โดยให้โจทก์ จำเลยดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
แจ้งให้ศาลทราบ พร้อมกับแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล
สำหรับกรณีที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลนั้น เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำขอดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 09.30 น