กำลังเป็นประเด็นที่หลายๆ คนให้ความสนใจ สำหรับสถานการณ์การพบโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงที่สามารถพบได้ในสัตว์กินพืช เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสามารถแพร่สู่คนได้หากมีการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์
โรคนี้แม้จะพบไม่บ่อยแต่หากติดเชื้อแล้วและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรมีความรู้เท่าทันเพื่อป้องกันและดูแลตนเองอย่างเหมาะสม
โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคแอนแทรกซ์ คือ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวกชนิดสร้างสปอร์ สปอร์เหล่านี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายปีและสามารถทนต่อความร้อน ความแห้ง และสารเคมีได้ดี
เมื่อสปอร์ของเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหาร จะเปลี่ยนสภาพเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชีวิตและปล่อยสารพิษ (toxin) ที่ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อรอบข้าง ทำให้เกิดอาการอักเสบ รุนแรง
และอาจลุกลามถึงระบบไหลเวียนโลหิตและอวัยวะสำคัญต่างๆ หากพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นแผลดำ ไข้ หายใจลำบาก หรือปวดท้องรุนแรง ภายหลังจากสัมผัสสัตว์หรือเนื้อสัตว์ ควรรีบพบแพทย์ทันที
โดยวันนี้ น.สพ.ต่อพงศ์ ประเสริฐสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร แจ้งว่า นพ.ณรงค์ จันทร์แก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร แนะนำ 4 วิธีการทำลายเชื้อแอนแทรกซ์ ดังนี้
1.การทำความสะอาดทั่วไป ใช้ 0.5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ คือ ใช้ไฮเตอร์ 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน (เช่น ไฮเตอร์ 1 ลิตรต่อน้ำ 10 ลิตร) ฟอก เช็ด ถู ใช้เวลา อย่างน้อย 15 นาที ล้างและขัดด้วยน้ำร้อนตามหลังจากทำความสะอาด ล้างด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง
2.ใช้โซดาไฟ (5% โซเดียมไฮดรอกไซด์) หรือน้ำยาฟอร์มาลินราด ฆ่าสปอร์ของเชื้อ
3.การรมควัน โดยใช้ฟอร์มาลดีไฮด์
4.การใช้ความร้อนต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 30 นาที Sterilization/Autoclave (121 C 30 นาที) และไม่แนะนำให้ใช้น้ำฉีดเนื่องจากอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ และหากพบเหตุรุนแรงสามารถแจ้งหน่วยงานทางราชการได้โดยด่วน
ขอบคุณข้อมูล: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร